เปิดตัว...
"เครื่องสังเคราะห์ความสุข" (Joy Maker)
“บางทีความสุขอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องตามหา
ทว่ามันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เรายังมองไม่เห็น”
ทุกวันนี้ ที่เรายัง “ไม่มี” ความสุข เพราะเรายัง “ไม่เข้าใจ” ความสุข
ในสมองของมนุษย์ทุกคนมีสารสื่อประสาท (neurotransmitter)
อยู่ 4 ชนิด ที่เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้เรารู้สึกมี "ความสุข" คือ...
- โดพามีน (dopamine)
- เซโรโทนิน (serotonin)
- ออกซิโทซิน (oxytocin)
- เอ็นดอร์ฟิน(endorphine)
สารแห่งความสุขทั้งสี่ตัวนี้จะทำงานร่วมกันเสมอ
โดยการทำงานของสารแต่ละตัวจะสามารถอธิบายโดยย่อ ได้ดังนี้…
- โดพามีน (สารสำเร็จ)
จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเราได้รับในสิ่งที่ต้องการ และเมื่อความอยากได้รับการตอบสนอง
เช่น อยากกินชีสเค้กแล้วได้กิน อยากได้หอมแก้มคน ๆ หนึ่งแล้วได้หอม
อยากแข่งขันได้ที่หนึ่งแล้วทำได้สำเร็จ ฯลฯ
--
- เซโรโทนิน (สารสงบ)
จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเรากำลังรู้สึกสงบ สบาย และผ่อนคลาย
เช่น เมื่อเรากำลังนั่งสมาธิ เมื่อเรากำลังนอนฟังเพลงที่ชอบ
เมื่อเรากำลังเอนกายบนโซฟาที่นุ่มสบาย ฯลฯ
--
- ออกซิโทซิน (สารสัมพันธ์)
จะพรั่งพรูออกมาเมื่อเรากำลังมีความรัก เมื่อได้ยินเสียงคนรัก ได้อยู่ใกล้คนรัก
หรือได้สัมผัสคนรัก และจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษในแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร
ออกซิโทซินจะหลั่งออกมาทั้งในความรักแบบหนุ่มสาว แบบครอบครัว
และแบบเพื่อนที่มีความผูกพันกันมาก
โดยสารออกซิโทซินจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และอบอุ่น
--
- เอ็นดอร์ฟิน (สารสำราญ)
จะพรั่งพรูออกมาทุกครั้งที่เรากำลังรู้สึกมีความสุข
ดังนั้นสารเอ็นดอร์ฟินจึงหลั่งออกมาพร้อม ๆ กับโดพามีน เซโรโทนิน
และออกซิโทซิน นอกจากนั้น
เอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษตอนที่เราออกกำลังกาย หัวเราะ หรือยิ้ม
และทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดจากธรรมชาติ (natural pain-killer/morphine from nature)
ดังนั้น เวลาเรากำลังมีความสุข เราจึงรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
บาดแผล ความเมื่อยล้า และความทรงจำที่ไม่ดี
...สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำอันตรายอะไรเราไม่ได้เลยในขณะที่เรากำลังมีความสุข
::::::::::::::::::
การท่องจำความเหมือนหรือความแตกต่างของสารแห่งความสุขทั้งหลายเหล่านี้
ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่าสารทั้งสี่ตัวนี้ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่มันมีอยู่อย่างเต็มล้นในสมองของเราเอง…
ในแบงค์พันไม่มีสาร dopamine
เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกไม่ได้ฉาบทาไปด้วยสาร serotonin
เสียงของคนที่เรารักไม่ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งสาร oxytocin
และไม่มีอาหารชนิดใดในโลกนี้ที่ใส่สาร endorphine
…ความสุขทั้งหมด สมองของเราเป็นตัวสังเคราะห์ขึ้นมาเอง…
ทุกสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ทำหน้าที่เพียง “กระตุ้น” สารความสุขในตัวเราให้หลั่งออกมา
แต่สรรพสิ่งในตัวของมันเองไม่ได้มีสารแห่งความสุขใด ๆ สลักฝังมากับมัน
แบงค์พันเป็นเพียงเศษกระดาษน่ารำคาญ สำหรับเศรษฐีพันล้านที่ไม่เห็นคุณค่าของเงิน
เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงทวารเม็ดเบ้อเริ่ม
เสียงของคนรักคือความโศกเศร้าอันแสนสาหัส ถ้าเจ้าของเสียงได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว
และอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกก็คือยาพิษที่น่าสะพรึงกลัว ถ้าผู้กินเกิดแพ้มัน
::::::::::::::::::
สรรพสิ่ง ? ความสุข
สรรพสิ่ง + การปรุงแต่ง = ความสุข
สิ่งต่าง ๆ ไร้ความหมายและไร้ความสุขในตัวของมันเอง
แต่ใจเราสังเคราะห์ความสุขขึ้นมาจาก...
ค่านิยม การตีความ ประสบการณ์
ความรู้สึก (เวทนา) ความทรงจำ (สัญญา) และการปรุงแต่ง (สังขาร)
ตั้งแต่เล็กจนโต เราปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำหน้าที่สังเคราะห์ความสุขจากสิ่งต่าง ๆ
โดยอัตโนมัติ และผลของมันก็มักไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ
การที่มนุษย์พยายามแสวงหาความสุขจากสิ่งที่ไม่มีความสุขอยู่ในตัวของมันนี่เอง
ที่ทำให้มีผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนที่แม้จะดัง รวย สวย และเก่ง
แต่ก็อาจมีความทุกข์มากกว่าขอทานที่นอนห่มผ้าเช็ดตัวขาด ๆ อยู่ใต้สะพานลอย
ถ้าความดังให้ความสุข...คงไม่มีดาราหน้าบึ้ง
ถ้าความรวยให้ความสุข...คงไม่มีเศรษฐีร้องไห้
ถ้าความสวยให้ความสุข...คงไม่มีคนหน้าตาดีฆ่าตัวตาย
ถ้าเนื้อคู่ให้ความสุข...คงไม่มีคนทุกข์หลังแต่งงาน
::::::::::::::::::
มนุษย์ฝากสิ่งอื่นให้ช่วยสังเคราะห์ความสุขให้ ตั้งแต่...สิ่งของ เงินทอง ความโด่งดัง
คำชื่นชม สภาพอากาศ การจราจร
ตำแหน่ง หน้าที่ ล็อตเตอรี่ แฟน พ่อ แม่ ลูก หัวหน้า ลูกน้อง พรรคการเมือง
นักการเมือง หนัง ละคร เฟซบุ๊ค เกมในเฟซบุ๊ค ฯลฯ
แต่เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจสังเคราะห์ความสุขได้อย่างที่ใจเราต้องการ
(อีกต่อไป) เราจึงเริ่มรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ เครียด โกรธ เซ็ง เศร้า
และหลายครั้งเราก็จะโทษโลก โทษสังคม โทษคนอื่น โทษตัวเอง โทษโชคชะตา
หรือโทษกรรมที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์
ตามกฎไตรลักษณ์ซึ่งเป็นกฎเหล็กของจักรวาล
...ไม่มีสิ่งใดเที่ยง (อนิจจัง)
...ไม่มีสิ่งใดทน (ทุกขัง)
...และไม่มีสิ่งใดแท้ (อนัตตา)
ดังนั้น เมื่อเราฝากความหวังให้สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่แท้ และไม่ทนมาสังเคราะห์ความสุขให้
เราก็ย่อมต้องผิดหวังและรู้สึกทุกข์ใจเป็นธรรมดา
เราทำตัวประหนึ่งเศรษฐีหมื่นล้านที่ปฏิญาณตนว่าจะไม่มีความสุขจนกว่าจะแทงหวยถูก
ซึ่งก็หมายความว่า เรามีความสุขพร้อมอยู่แล้วในตัวอย่างมากมายมหาศาล
เพราะตัวของเราคือแหล่งผลิตความสุขแหล่งเดียวในจักรวาล
แต่เรากลับตั้งเงื่อนไขในการมีความสุขขึ้นมาเอง
โดยเอามันไปฝากไว้กับสิ่งของ (และผู้คน) ที่ไม่มีความแน่นอน…
::::::::::::::::::
ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร…
หมายความว่าเราควรจะหยุดการตามล่าฝันและสรรหาทุกอย่าง แล้วนั่งนิ่ง ๆ
เพื่อสังเคราะห์ความสุขด้วยตัวเองไปจนเหี่ยวแห้งตายใช่ไหม…
เปล่าเลย แต่มันหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เป็นใคร หรือทำอะไรอยู่
จริง ๆ แล้วในตัวพวกเราทุกคน “มีความสุข” ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา
แต่อยู่ที่ว่าเราจะ “รู้วิธี” สังเคราะห์มันขึ้นมาเองได้หรือเปล่า
ซึ่งวิธีแรกในการสังเคราะห์ความสุข คือการเริ่ม
“ขอบคุณในสิ่งที่มี”
และ “ยินดีในสิ่งที่ได้” ไม่ใช่เอาแต่ “ทุรนทุรายไปกับสิ่งที่ขาด”
เพราะการลองมองสองข้างทางเพื่อเก็บเกี่ยวความสุข ก็ไม่ได้แปลว่า
เราจะต้องหยุดเดินเสียหน่อย จริงไหม??…
แต่ถ้าถามว่าในโลกนี้จะมีใครสอนวิชา “สังเคราะห์ความสุข” อย่างจริงจังให้กับเราได้บ้าง
เพราะมันช่างเป็นศาสตร์ที่น่าศึกษาเสียเหลือเกิน ก็เห็นจะมีอยู่ปรมาจารย์อยู่องค์หนึ่ง
ท่านทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม…
“พระพุทธเจ้า”
และถ้าเราอยากพบกับท่าน ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงอินเดียหรือเสียตังค์
ซื้อเครื่องย้อนเวลานะ
เพราะปรมาจารย์ท่านนี้เคยตรัสสอนลูกศิษย์เอาไว้ประโยคหนึ่งว่า…
โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา…”
::::::::::::::::::
Credit : ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร - คอลัมน์ ข้อคิดจากขุนเขา - ธรรมดี ออนไลน์ แม็กกาซีน
#Life101Page #JoyMaker
2013-10-17