ชิน

21 มิ.ย. 56 / 6767 อ่าน

บ้านใครอยู่แถวบางพลีเมื่อหลายปีก่อน ความเป็นอยู่ค่อนข้างสงบ หลังจากนั้นเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิย้ายเข้ามา เสียงเครื่องบินขึ้นลงดังสนั่นไปหมด ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในแนวขึ้นลงของเครื่องบินแทบจะต้องอุดหูกันและเครื่องบินขึ้นลงในแต่ละวันก็แทบจะทุกนาที  

 

จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านไปหลายปีตั้งแต่เปิดใช้สนามบิน ไม่มีใครรู้สึกถึงเสียงนั้นอีกแล้ว เครื่องมา..หยุดคุย เครื่องผ่านไป..พูดต่อ ทุกคนดูเหมือนจะปรับวิถีชีวิตได้กันหมดแล้ว   ลองไปถามชาวบ้านที่อยู่ในแหล่งที่มีน้ำเน่าท่วมขัง จากเวลาที่ผ่านไปๆการรับรู้ของกลิ่นเหม็นนั้นราวกับว่าไม่มีกลิ่นเหม็นนั้นแล้ว   เด็กถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ วันแรกๆไม่อยากอยู่เลย แต่เมื่ออยู่ไปไม่นาน ไม่อยากกลับบ้านแล้ว อยากอยู่กับเพื่อนแทน   วันนี้ชอบทานน้ำพริก ปลาทู เกิดถูกส่งไปอยู่อินเดีย วันแรกๆเชื่อไหมทานไม่ได้ แต่จากนั้นเมื่อไม่มีอะไรจะทาน ก็ต้องอดทนทานเข้าไป จากนั้นไม่นานก็จะอร่อยไปกับอาหารแขกนั้น   คนเราอยู่กับอะไรไปสักพักก็จะชินกับสิ่งนั้น เบื้องหลังความจริงที่เราเหมือนจะรู้จักนี้คืออะไร? ความจริงไม่ใช่เราชินหรอก ("เรา"มีที่ไหนกัน) เพราะนั่นเป็นผลที่ประจักษ์ออกมาเท่านั้น ความเป็นจริงคือ ธรรมชาติของรูปนาม(ทั้งรูปและนามหรือทั้งกายและใจเลยล่ะ) ทุกชนิดจะมีคุณสมบัติในการปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่   การปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติเพราะนี่เป็นการดำรงพันธุ์ของสัตว์และพืช เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา เอาง่ายๆเช่นอุกาบาตจากนอกโลกพุ่งชนโลก เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง มหาสมุทรกระฉอก เกิดคลื่นสึนามิขนาดมหึมา เกิดภูเขาไฟระเบิด ท่วมทับไดโนเสาร์ตายกันหมด ฝุ่นควันหมอกหนาคละคลุ้งเต็มบรรยากาศ แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึงพื้นโลก พื้นโลกจึงเกิดเป็นน้ำแข็ง มนุษย์ต้องปรับตัว พืชพันธุ์ต้องปรับตัว เวลาล่วงเลยมาจนปัจจุบัน เรากำลังตระหนักกันถึงภาวะโลกร้อนเพราะเราเร่งเหตุปัจจัยต่างๆด้วยการขุดของใต้ดินมาเผาบนดิน สภาพของสมดุลย์จึงเปลี่ยนส่งผลกระทบกันเป็นห่วงโซ่ สัตว์โลกพืชพันธุ์ก็ต้องปรับตัวใหม่ การปรับตัวเกิดขึ้นตลอดมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอกที่ไม่เสถียรส่งผลต่อเหตุปัจจัยภายใน และเหตุปัจจัยภายใน (คือนามธรรม ความรู้สึกทั้งหลาย) ที่ไม่เคยเสถียรเช่นกัน (ด้วยความไม่รู้และการปรุงแต่ง) ก็พยายามที่จะเปลี่ยนเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมภายนอกให้เป็นไปดั่งใจด้วย   เมื่อการปรับตัวมีอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวเข้าสู่สิ่งใหม่หรือภาวะใหม่จึงสร้างความเคยชินกับสภาพใหม่ตลอดเวลา พืชก็ปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ สัตว์ก็เช่นกัน มนุษย์ก็ด้วย   การปรับตัวใหม่นี้ ในสัตว์ที่มีเวทนาคือความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ จึงปรับจากทุกข์เข้าสู่เฉยๆ เมื่อเฉยๆได้สักพักก็เกิดความสุข พออะไรๆเปลี่ยนอีกก็ทุกข์อีกแล้วก็ปรับอีกเป็นเฉยๆจากนั้นชักชินก็เริ่มสุข (โง่วนเวียน โง่เวียนวนอยู่อย่างนี้) นี้เป็นสภาพที่เห็นเป็นผล สภาพปรมัตถ์คือ เมื่อแรกจิตพบกับภาวะใหม่ มันจะดิ้นรนกวัดแกว่งเพราะจะต้องปกป้องตนเอง จนกระทั่งรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วก็จะไม่ไปเกาะเรื่องนั้นๆอีก แรกๆจึงทุกข์เพราะจิตดิ้น แต่พอจิตเลิกดิ้นมันก็รู้สึกเฉยๆ แต่สาเหตุก็อาจจะมาจากกายด้วยเช่นกัน เช่นอยู่ประเทศหนาวมาอยู่ประเทศร้อนแรกๆผิวกายสัมผัสความร้อนก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปรับตัว เกิดการขยับมีการขับน้ำออกมาเพื่อระบายความร้อน เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นความรู้สึกจึงถูกส่งผ่านนามธรรมต่อเป็นห่วงโซ่ เกิดผัสสะ มีวิญญาณแปลค่าในด้านบวก ลบ จึงมีเวทนา เกิดเป็นทุกขเวทนาสักระยะ เวทนาก็เปลี่ยนจากทุกข์เป็นเฉยๆ นั่นเพราะจิตไม่ไปเกาะกับสิ่งนั้นเหมือนอย่างตอนแรกๆอีก หรือเช่น ทหารเกณฑ์แรกๆถูกส่งไปอยู่ในค่ายทหารก็จะทุกข์มากสักพักก็จะปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่เป็นคนมีวินัย ที่เคยลำบากในวันแรกๆก็กลายเป็นชินไป ร่างกายวันแรกๆก็ปวดเมื่อยมันก็ปรับตัวใหม่เพราะต้องดิ้นรนอยู่ในสภาพนี้ให้ได้ก็ก่อเกิดเป็นกล้ามเนื้อขึ้น สภาพเหล่านี้เกิดเพราะมีเหตุไปกระตุ้นมัน มันไม่ได้มีตัวตนอะไร สุดท้ายได้นิสัยที่ดีติดตัว ตื่นเช้า เข้มแข็ง แข็งแรง มีวินัย ตามมา แต่หากเหตุปัจจัยใหม่ไม่ทำต่อ มันก็ปรับตัวใหม่อีก ดังนั้นที่ว่าเป็นอย่างเดิม ก็แค่ดูคล้ายๆเดิมต่างหาก จะเป็นอย่างเดิมได้ยังไง   แต่การปรับตัวใหม่นี้ไม่ได้มีแต่ในทางบวกอย่างตัวอย่างที่ยกผ่านมาแต่เมื่อถูกเข้าไปอยู่กับหมู่กลุ่มที่นิสัยไม่ดีก็จะซึมซับความไม่ดี ความไม่มีวินัย ความเห็นแก่ตัว ที่เป็นภาวะของสิ่งแวดล้อมมาด้วยเช่นกัน เมื่อจุ่มในน้ำธรรมดาก็ชินกับน้ำธรรมดา เมื่อไปจุ่มในน้ำร้อน ช่วงแรกก็จะอึดอัดกับน้ำร้อนเป็นทุกข์กับน้ำร้อนแล้วก็ชินกับน้ำร้อน นี้จึงเป็นการปรับตัวของรูปนาม และของสัตว์ที่มีเวทนา วันนี้ด้วยสิ่งนี้มันจึงถูกบดบังเพราะเราไม่เห็นความจริง จึงหลงไปปรุงความรู้สึกขึ้นมา ทั้งๆที่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง   หากเราเห็นความจริงจะพบความจริงที่ไม่น่าเชื่อว่า การปรับตัวของรูปนามทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งมีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ทั้งที่มีเวทนาและไม่มีเวทนานั้น มีการปรับตัวตลอดเวลาไม่ว่าจะมีใครเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม นี้จึงมีศัพท์ที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นสัจจธรรมนี้ด้วยประโยคๆเดียวว่า "เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น" ซึ่งสภาพนี้พระพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์เรียกว่า "อิทับปัจจยตา" ดังนั้นสรรพสิ่งในโลกทั้งหมดจึงมีความเป็นอิทับปัจจยตาทั้งหมด เมื่อผลที่เราเห็นในวินาทีนี้มาจากเหตุในวินาทีก่อน และวินาทีก่อนก็มีเหตุจากวินาทีก่อนหน้ากันขึ้นไป นั่นจึงทำให้เราเข้าใจได้ว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา สภาพที่จะเป็นตัวตนเสถียรจึงไม่มี นี่เองจึงทำให้สรรพสิ่งไม่มีทางที่จะเสถียรได้ มันจึงส่งผลให้เราได้เห็นในความเป็นอนิจจังนั่นเอง นี่เป็นสภาพย้อนกลับไปที่ต้นตอ ผู้ที่เห็นอนิจจังจึงเหมือนกับเห็นเพียงผลที่แสดงออกของรูปนามเท่านั้นเอง ปัญญาแท้หรือความจริงแท้คือเข้าไปเห็นต้นเหตุที่แท้จริงของสรรพสิ่งจึงจะสามารถวางอุปาทานลงได้ แต่ยังหรอกเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะเราจะเดินหน้ากันต่อไปเปิดโปงความจริงของโลกที่บดบังเราให้หลงผิด แม้ทุกสรรพสิ่งจะเป็นอิทับปัจจยตาจะนับรวมทุกสิ่งก็ตาม แต่ที่จะมามีส่วนเกี่ยวข้องกับสัตว์โลกจริงๆคือสัตว์โลกที่มีความรู้สึกหรือสัตว์โลกที่มีเวทนาเท่านั้น ดังนั้นพระธรรมคำสอนจะมุ่งเน้นเฉพาะสัตว์โลกที่มีเวทนาเพื่อให้พ้นจากเวทนานั่นเอง อิทับปัจจยตาจึงถูกบีบให้แคบลงเหลือเพียง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งจะเกี่ยวข้องเฉพาะสัตว์ที่มีเวทนาเท่านั้น จากนั้นก็จะพบความจริงที่ไม่เคยมีเราเขาบุคคลในสัตว์โลกเลย ความเป็นเรา ของเราก็มาจากอุปาทานนั่นเอง หากดูเท่าที่อ่านผ่านมา สรุปแบบง่ายๆก็คือเวทนาคือ สุข ทุกข์ เฉย นั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกและมากระทบต่อกายใจ หรือเกิดจากการดิ้นรนภายในจะต้องการจะเปลี่ยนแปลงภายนอก แล้วความรู้สึกก็จะวนไปมาเพราะความไม่รู้ความจริงแท้ จึงไปหลงยึดถือนั่นเอง   ตกลงชินดีไหม? ชินก็ดี แต่ชินแล้วโง่ พระพุทธเจ้ามีพระปรีชาสามารถ มีพระปัญญาคุณ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจขึ้นมาเพราะเห็นความจริงขึ้นมา จึงรู้ว่ามรรคเท่านั้นที่จะพาสัตว์โลกพ้นไปได้เพราะจะเห็นความจริง ในมรรคมีองค์๘ จะดึงให้สัตว์โลกพ้นจากความชินในอกุศลซึ่งนั่นเป็นสัญชาตญานในการมุ่งร้าย เบียดเบียนเพราะจะเอาตัวรอด เปลี่ยนมาเป็นไม่มุ่งร้ายแทนด้วยศีลในมรรคองค์ที่ ๓ ๔ ๕ ด้วยปัญญาจากมรรคองค์ที่ ๑ และ ๒ จากนั้นเมื่อกายวาจาสงบก็ไปจัดการเปลี่ยนนามธรรมคือจิต วิญญาณให้ไปอยู่ทางกุศล ละอกุศลเพื่อย้ายนิสัยที่ฝังรากลึกให้ย้ายจากฝั่งอกุศลไปอยู่ทางกุศลแทน นี้จึงใช้เครื่องมือตัวแรกคือมรรคองค์ที่๖ ให้สัตว์ละอกุศลแล้วเปลี่ยนมาเจริญกุศลแทน อยู่กับกุศลให้มากให้บ่อยจนชินกับกุศล ธรรมชาติของรูปนามอย่างที่อธิบายไปแล้วจะปรับตัวสู่สภาพใหม่จากนั้นรูปนาม กายใจหรือขันธ์๕ นี้จะเริ่มเข้าไปติดกุศล จึงมีคำต่อมาที่พระองค์ตรัสคือ คนดีทำดีง่ายทำชั่วยาก คนชั่วทำชั่วง่ายทำดียาก จากนั้นผู้นั้นจะทำกุศลไปเรื่อยแต่กุศลเช่นเมตตา กรุณาก็ดีในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมแต่กุศลที่พระองค์ต้องการเชื่อมต่อไปและจะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายสูงสุดกลับเป็นอานาปานสติ เพราะอะไร? แต่เมื่ออยู่กุศลทำกุศลจนเคยคุ้นเคยชิน ก็จะเกิดความเคยชินในการทำกุศล จากนั้นจึงต้องใช้มรรคองค์ที่๗ สัมมาสติ ไปวางความยึดถือกุศล แต่จะไม่เลิกการทำกุศล จากนั้นจะไม่ทำกุศลด้วยไปดำริตริตรึกกุศลให้มาเป็นของเราอีก จะเริ่มทำกุศลด้วยใจเป็นอิสระ จะพบความจริงขึ้นโดยลำดับ   เมื่อผู้เดินทางมาจนกุศลเกิดขึ้นมากจากการละอกุศลแล้ว จิตมาซบกับกุศลก็จะสร้างตัวตนต่อการยึดถือกุศลเป็นธรรมชาติของจิตที่มีอวิชชาอยู่ ดังนั้นเพื่อให้เห็นความจริงจึงต้องให้จิตได้เห็นว่า ฐานต่างๆที่จิตเข้าไปเวียนวนผ่านนั้นอันมี กาย เวทนา จิตและธรรมารมณ์ ทำอกุศลส่งผลเป็นอกุศล ทำกุศลส่งผลให้ใจเป็นกุศล (หลายคนตรงนี้ไปหลงว่า ไม่ว่ากุศลหรืออกุศลก็ล้วนเกิดดับ ตรงนี้ใช่นะ แต่ถ้าโมหะเข้าครอบจะบอกต่อว่า ทำอกุศลหรือกุศลก็เหมือนกัน นี่หลงทางแล้ว) เมื่อเห็นความจริงว่าทุกสิ่งล้วนเป็นของเกิดขึ้นดับไป นั่นจะนำพาไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องคือความไม่มีตัวตนนั่นเอง ในขณะที่เดินทางผ่านฐานทั้ง๔นั้น ด้วยความซ้ำจะเริ่มเห็นความจริงที่จะเป็นปัญญารู้อริยสัจคือ ตัวฐานทั้ง๔เป็นเครื่องมือให้ไปรู้ความจริงว่า ขันธ์๕คืออะไร เพราะความซ้ำในการเห็นฐานทั้ง๔ จึงเกิดความรู้ว่าขันธ์๕ คือองค์ประกอบที่เข้ามาประกอบกัน ซ่อนๆซ้อนๆกันด้วยการเดินทางผ่านฐานทั้ง๔ ดังนั้นตัวสติปัฏฐาน๔นั้นไม่ใช่ตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มรรคข้อนี้จึงยังถูกจัดอยู่ในส่วนสมาธิ ไม่ใช่ปัญญา วันนี้หลายคนหลงว่าสติปัฏฐาน๔ เป็นวิปัสสนา ตัววิปัสสนาจริงๆนั้นอยู่ที่มรรคองค์ที่๑ คือเมื่อเจริญสติแล้วไปเกิดปัญญาเข้าใจว่า ขันธ์๕ ไม่ใช่ตัวตน นั่นล่ะเป็นวิปัสสนา   เมื่อเข้าใจในสติปัฏฐาน๔ ก็จะรู้ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่มีตัวตน นั่นเป็นความเดียวกันเชิงซ้อนที่จะเป็นความเข้าสืบเนื่องว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่มีตัวตนเป็นอนัตตา ความเข้าใจดังนี้มาจากจิตใจที่ตั้งมั่นในสัมมาสมาธิ ปัจจัยให้สัมมาสมาธิเกิดมีมาตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ เรื่อยมา จนเนกขัมมะ จนมีศีลจิตก็ตั้งมั่นขึ้น จนละอกุศล จิตก็ตั้งมั่นขึ้น จนมาเจริญกุศล รู้ลม อานาปานสติ จิตก็ตั้งมั่นขึ้น นำมาเจริญสติปัฏฐานได้ดี เข้าใจความจริงวางความเห็นผิดจิตก็ตั่งมั่นขึ้นอีก จนตั้งมั่นถึงที่สุด เห็นความจริงทั้ง รู้แจ้งอริยสัจอย่างแจ่มแจ้งว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับสนิทแห่งทุกข์ นี้คือหนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ นี้เป็น สัมมาทิฏฐิ ขั้นสูงสุด ทำลายผู้ยึดถือขันธ์เพราะเหตุจากจิตเองยึดถือตัวเอง เป็นจุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมด จึงเกิดจักขุง อุทปาธิ(จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) ญานังอุทปาธิ(ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) ปัญญาอุทปาธิ (ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) วิชชาอุทปาธิ (วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) อาโลโกอุทปาธิ (แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) เพราะจิตสลัดความเห็นผิดทั้งหมดที่ครอบงำมาตลอดการเดินทางในสังสารวัฏอย่างยาวนานลงได้ จึงเกิดผลคือ สัมมาญาณ ความรู้อันเป็นสัมมาแท้ๆและสัมมาวิมุตติ คือความหลุดพ้นที่แท้จริง ไม่มีผู้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ สิ่งทั้งปวงอีกต่อไป จิตกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้   หากเข้าใจมรรคที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ มีหรือที่สาวกจะปรามาสคำของท่าน มีหรือที่จะมานั่งเถียงกันว่าของใครถูก อย่าให้โง่ต้องซ้อนโง่ต้องซ้อนโง่ให้หลายชั้นเลย กลับมาศึกษามรรค ปฏิบัติตามมรรค จะพบกับความสงบเย็นที่แท้จริง เวลาเหลือกันคนละนิดเดียว อย่าเหมือนไก่ในสุ่มที่เขากำลังลำเลียงไปโรงเชือด แต่เหล่าไก่ทั้งหลายที่โง่เขลาก็ยังเถียงว่าสุ่มกูดีกว่า พวกกูเก่งกว่า สุ่มนั้นไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวถึงแล้วกูต้องเดินนำหน้าเพราะรู้จริง ไก่ทั้งหมดไม่ว่าไก่ลูกน้องหรือไก่ลูกพี่ที่พูดกันเรื่องเดียวกัน เกิดทิฏฐุปาทานในเรื่องเดียวกันจนเป็นอุปาทานหมู่ ก็จะเห็นกลุ่มก้อนพวกกูถูกโดยไม่เห็นความจริงใดๆ แต่ที่ไหนได้ ทันทีที่รถจอด กระบะท้ายรถถูกเอาลง สุ่มถูกยกลง ไก่ไม่ว่าหัวหน้าลูกน้องถูกโยนเข้าไปห้องประหารอย่างไม่มีใครแยแส เขาก็ปาดคอลงต้มในหม้อ ตายเท่ากันทุกตัว ไม่แน่ว่าบางตัวต่อไปจนหลงถึงตายถึงความเก่งของกู ที่จะอยู่ติดต่อไปด้วยจนตาเปิ่งโพลงครั้งสุดท้าย แล้วก็ไปสร้างเหตุเกิดใหม่ต่อไปเพราะ"กู"เก่งนี่เอง   สุดท้ายมีใครบรรลุธรรมที่ไหนกัน...พระอรหันต์ถ้าจะแปลกันจริงๆก็คือ ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์ เปลือกที่ยืนอยู่นั่นขันธ์๕ ไม่มีใครเอามันแล้วของทุกข์รอมันพังตอนหมดเหตุ จิตก็ไม่มีเจ้าของเพราะรู้แจ้งไปแล้ว จิตตอนโง่กับตอนหายโง่จึงเรียกชื่อยากเลยไม่รู้ตอนไหนจะให้ชื่ออะไร เลยเติมให้มันต่อไปอีกหน่อยว่า จิตเดิมแท้(แต่ไม่กลับมาโง่อีก) ไปเป็นจิตใหญ่ ไม่กระจอกงอกง่อยไล่งับวิญญาณอีก   จะหาพระอรหันต์ที่ไหนกัน ถ้าจะหาก็หาที่ตัวเองนั่นล่ะ ท่านถูกบังอยู่ เอาสิ่งบังออกซิแล้วจะพบพระอรหันต์ที่ความไม่มีอะไร ตั้งชื่อให้สภาพนั้นว่า สุญญตา 2013-06-21